ตำนานอาหารไทยมีที่มาอย่างไร

13373
ตำนาน อาหารไทย มีที่มาอย่างไร

ตำนานอาหารไทยมีที่มาอย่างไร – ประเด็นหลัก

อาหารไทย เป็นอาหารที่เน้นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร รสชาติอาหารที่ได้จะมีความเข้มข้น จัดจ้าน นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย ซึ่งต้มยำกุ้งและผัดไทย เป็นเมนู อาหารไทย ที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก

อาหารไทย ถือเป็นอาหารที่มีความครบเครื่องทั้งเรื่องคาวหวาน นอกจากรสชาติจะถูกปากคนไทยแล้ว ชาวต่างชาติที่ได้ลิ้มรสยังยกนิ้วให้เลย น่าภาคภูมิใจนะคะ ด้วยรสชาติอันเข้มข้น เน้นหนักที่เครื่องเทศ มีเครื่องปรุงหลากหลาย รสชาติอาหารแต่ละอย่างจึงมีความพิเศษเฉพาะตัว รวมถึงการใช้เครื่องปรุงต่างๆ หากจะประกอบอาหารไทยให้อร่อยนั้น จำเป็นต้องศึกษาจากตำราอาหารไทย บวกกับต้องใช้ความชำนาญและประสบการณ์นั่นเอง

อาหารประจำชาติของไทยนั้นถูกสั่งสม และถ่ายทอดกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต จนกลายเป็นเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมประจำชาติที่สำคัญของไทย ขณะที่อาหารพื้นบ้าน คือ อาหารที่นิยมรับประทานกันเฉพาะท้องถิ่น เป็นอาหารที่ทำง่าย โดยอาศัยพืชผักหรือวัตถุดิบที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ มาประกอบเป็นอาหาร มีการสืบทอดวิธีปรุง และวิธีการทำอาหารต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ลองย้อนอดีตกลับไปดูความเป็นมาของอาหารไทยกันดีกว่าค่ะ ว่ามีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยใด

อาหารไทย สมัยสุโขทัย

สมัยสุโขทัย

หลักฐานจากศิลาจารึก และวรรณคดีที่สำคัญ อย่างไตรภูมิพระร่วงของพญาลิไท ได้กล่าวถึงอาหารในสมัยสุโขทัยว่า คนสมัยนั้นกินข้าวเป็นอาหารหลัก และกับข้าวส่วนใหญ่ก็คือ ปลา อาจกินเนื้อสัตว์ชนิดอื่นบ้าง จากการค้นพบในไตรภูมิพระร่วงยังปรากฏคำว่า “ข้าวหม้อแกงหม้อ” อยู่ในจารึกนั้น และผักต่างๆ เช่น แตงแฟง และน้ำเต้า ส่วนข้าวตอกกับน้ำผึ้ง เป็นขนมหวานที่คนสุโขทัยชื่นชอบมากที่สุด โดยใช้วัตถุดิบใกล้ตัวมาทำเป็นขนมหวาน ส่วนใหญ่คนสมัยนั้นนิยมกินผลไม้กันค่ะ

สมัยอยุธยา

ในสมัยอยุธยาถือได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองมากที่สุด เพราะมีการติดต่อทางการค้ากับชาวต่างชาติ จากการศึกษาเอกสาร และการจดบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในสมัยอยุธยา พบว่า ผู้คนในยุคนี้มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย อาหารหลักยังคงเป็นข้าว ส่วนกับข้าวมีแกง ต้ม และปลา ยังเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร การประกอบอาหารจะเริ่มใช้น้ำมันจากมะพร้าวและกะทิ คนสมัยนี้รู้จักการถนอมอาหารมากขึ้น เช่น นำปลาไปตากแห้ง หรือตำน้ำพริกเก็บไว้ และกล่าวถึงแกงปลาต่างๆ ที่ใช้เครื่องเทศ เช่น หัวหอม กระเทียม สมุนไพร และเครื่องเทศแรงๆ และไม่นิยมกินหมู เพราะชาวบ้านไม่ฆ่าสัตว์เพื่อนำมาทำอาหาร

หลักฐานการค้นพบนี้มาจากบันทึกของบาทหลวงชาวต่างชาติ ได้บันทึกไว้ถึงเรื่องราวของอาหารประจำชาติต่างๆ ที่เข้ามาอย่างแพร่หลายในช่วงยุคของสมเด็จพระนารายณ์ เช่น ญี่ปุ่น โปรตุเกส สเปน เปอร์เซีย และฝรั่งเศส จากหลักฐานระบุว่าในสมัยอยุธยาตอนปลาย อาหารจีนเริ่มเข้ามามีอิทธิพลและแพร่หลายในราชสำนัก โดยผ่านทางการสัมพันธไมตรีทางการทูต ต่อมาอาหารจีนเริ่มแพร่หลายไปยังคนทั่วไป และเริ่มรับเอาวัฒนธรรมการกินอาหารแบบชาวจีนมากขึ้น จนอาหารจีนจึงกลายเป็นอาหารของคนไทยไปเสียแล้ว

อาหารไทย สมัยธนบุรี

สมัยธนบุรี

มีหลักฐานปรากฏในตำรา การทำกับข้าว เล่มที่ 2 โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้กล่าวถึงความต่อเนื่องของวัฒนธรรมของอาหารไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตามลำดับ การเดินทางของสูตรอาหารผ่านทางข้าราชบริพาร ข้าราชการ หรือแม้แต่การบอกต่อกันในสังคมเครือญาติ เนื่องจากอาหารไทยสมัยกรุงธนบุรีนั้นมีความคล้ายคลึงสมัยอยุธยา และมีอาหารประจำชาติจีน สมัยรัตนโกสินทร์อีกด้วย การศึกษาความเป็นมาของ อาหารไทย ในยุครัตนโกสินทร์นี้ จำแนกตามยุคสมัยที่นักประวัติศาสตร์ได้กำหนดไว้ คือ ยุคที่ 1 ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 และในยุคที่ 2 ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน

อาหารไทย รัตนโกสินทร์ ยุคที่ 1

สมัยรัตนโกสินทร์ ยุคที่ 1 (พ.ศ. 2325 – พ.ศ. 2394)

อาหารในสมัยนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากยุคกรุงธนบุรีสักเท่าไร แต่จะมีอาหารเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ประเภท คือ อาหารว่าง เพราะจากจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ที่กล่าวถึงการตั้งเครื่องสำรับคาวหวานของพระสงฆ์ ในงานสมโภชพระแก้วมรกต พร้อมแสดงให้เห็นว่ารายการอาหารที่นอกเหนือจากอาหารไทย เช่น ผัก น้ำพริก ปลาแห้ง หน่อไม้ผัด และมีอาหารที่ปรุงด้วยเครื่องเทศแบบอิสลามอีกด้วย

สำหรับอาหารว่างสมัยนี้ จะเน้นอาหารว่างคาว ได้แก่ หมูแนม ล่าเตียง หรุ่ม รังนก และอาหารหวาน เป็นอาหารที่ทำด้วยแป้งและไข่ ขนมอบกรอบ เช่น ขนมผิง ขนมลำเจียก และมีขนมที่มีน้ำหวานและกะทิเจืออยู่ด้วย ได้แก่ ซ่าหริ่ม บัวลอย เป็นต้น

อาหารไทย รัตนโกสินทร์ ยุคที่ 2

สมัยรัตนโกสินทร์ ยุคที่ 2 (พ.ศ.2394 – ปัจจุบัน)

อาหารของไทยมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก และตำรับอาหารการกินของไทยเริ่มมีการบันทึกมากขึ้น โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 5 ในบทพระราชนิพนธ์ เรื่องไกลบ้าน จดหมายเหตุ เสด็จประพาสต้น เป็นต้น และตำรับอาหารต่างๆ ยังผ่านการบอกเล่าสืบทอดทางเครือญาติ หรือเป็นบันทึกอย่างเป็นทางการอื่นๆ ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ลักษณะของอาหารไทยมีความหลากหลายมากขึ้นต่างจากสมัยก่อน เริ่มมีอาหารจานเดียว อาหารว่าง ของหวาน หรือแม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารนานาชาติให้ถูกปากคนไทยขึ้น

อาหารที่เรากินในปัจจุบันนี้ล้วนแต่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษทั้งสิ้น อาหารไทย บางชนิดเกือบหายไปกับความทรงจำของคนรุ่นก่อนแล้ว และบางชนิดมีวิธีการปรุง หรือได้รสชาติที่แตกต่างกันออกไป นั่นก็ขึ้นอยู่กับบางคนที่อยากจะปรับรสชาติให้เข้ากับรสที่ชอบ อย่างไรก็ตาม อาหารตำรับดั้งเดิมก็ยังคงมีมนต์เสน่ห์ในตัวเอง เพราะฉะนั้น คนรุ่นใหม่อย่างเราควรอนุรักษ์เอาไว้ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้รุ่นลูกหลานของเราต่อไปนะคะ

นามปากกา เรด้าห์

เป็นเรด้าห์ที่คอยติดตามเรื่องกินเรื่องเที่ยวชอบเสาะแสวงหา สถานที่แปลกใหม่อยู่เสมอ ปัญหาสำคัญนั่นก็คือ !! ถึงจะเป็นนักเขียน เรื่องเที่ยวก็ทำให้น้ำหนักไม่ค่อยจะลดลงซะที